TUKEMD

__TUKEMD__ชื่อบ้าน อ่านว่า ตุ๊ก-เอ็ม-ดี นะจ๊ะ เป็นชื่อในเน็ตของแม่ตุ๊กเองค่ะ

บ้านหลังน้อย หลังนี้เป็นของแม่ตุ๊ก,น้องมะปราง และ คุณป๋า

เป็นบล็อกเพื่อบันทึกความสุข ความทรงจำ ในการท่องเที่ยวที่ต่างๆของครอบครัวเราค่ะ



2562/01/02

2.อ.แหลมสิงห์ จันทบุรี-เมืองเก่าระยอง

วันจันทร์ที่ 31 ธันวาคม 2561

เวลา 6:00 น.ตื่นเช้าออกมาชมวิวที่ระเบียงหน้าห้อง อากาศสดชื่นเย็นสบายมากค่ะ

ทางซ้ายมือมองเห็นวัด มียอดโบสถ์สีทอง หน้าวัดเป็นจุดเริ่มต้นของชุมชนริมน้ำจันทบูร

วัดโบสถ์เมืองจันทบุรี

เวลา 7:00 น.อาบน้ำแต่งตัวเสร็จก็ลงมานั่งเล่นด้านล่าง


ลอบบี้ของโรงแรมตกแต่งแบบย้อนยุค ห้องอาหารของโรงแรมอยู่ฝั่งตรงข้ามติดแม่น้ำ


หน้าต่างสวยเก๋ไก๋


โรงแรมมีสองฝั่งค่ะ ฝั่งที่อยู่ริมน้ำจะเป็นเรือนไม้สองชั้น พวกเราพักอยู่อีกฝั่งเป็นตึกสามชั้น
หน้าโรงแรมคือถนนสุขาภิบาลอยู่กลางชุมชนจันทบูร

ชุมชนโบราณริมน้ำจันทบูร อยู่ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำจันทบุรี บนถนนสุขาภิบาลที่ขนานกับแม่น้ำ
 มีระยะทางยาวประมาณ 1 กิโลเมตร  ออกไปเดินเล่นกันเลยค่ะ


เป็นถนนเก่าที่มีประวัติศาสตร์ วิถีชุมชน ศิลปวัฒนธรรม และสถาปัตยกรรมเก่าแก่ ยาวนานมากกว่า 300 ปี

มีภาพวาดฝาผนังตลอดสองข้างทาง

เสาไฟฟ้าดั้งเดิมอายุกว่า 100 ปี ที่เหลือเพียงต้นเดียวในจันทบุรี


ชุมชนริมน้ำจันทบูร เริ่มตั้งแต่หัวถนนสุขาภิบาล (เชิงสะพานวัดจันทร์) 
จากย่านท่าหลวง ไปจนถึงชุมชนตลาดล่าง

ตอนเช้าๆมีลมจากแม่น้ำพัดขึ้นมาเย็นสบาย

แผนที่ชุมชนเก่าระบุตำแหน่งของบ้านเรือนและอาคารเก่าแก่แต่ละแห่งเพื่อความสะดวกในการเดินชม
ที่นี่เป็นชุมชนเล็กๆที่ตั้งเรียงยาวตลอดแนวถนน


 ในอดีตชุมชนนี้ถือเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจการค้าที่สำคัญ ตั้งแต่ช่วงสมัยของพระนารายณ์มหาราชเมืองจันทบุรีได้ย้ายจากฝั่งตะวันออกมายังฝั่งตะวันตก ทำให้เมืองมีความเจริญขึ้นมาก
 จนถึงสมัยรัชกาลที่ 5 พระองค์ทรงเสด็จพระราชดำเนินถนนเส้นนี้ เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2450


จังหวัดจันทบุรีถือเป็นหัวเมืองตะวันออกที่เป็นศูนย์กลางการค้า มีการติดต่อค้าขายกับชาวไทยและชาวต่างชาติ เป็นเมืองท่าสำคัญในการลำเลียง ขนส่งสินค้า เราจะเห็นว่ามีท่าน้ำอยู่หลายแห่ง
สินค้าต่างๆ จะถูกลำเลียงมาทางน้ำ แต่ก็นำขึ้นจากท่ามาค้าขายกันบนบก


 บ้านเรือนของชุมชนริมน้ำในจันทบุรีจะหันหลังให้กับแม่น้ำสายหลักและหันหน้าเข้าหาถนนที่ขนานกับแม่น้ำ  ซึ่งก็คือ "ถนนสุขาภิบาล" ที่เป็นถนนเส้นแรกของจังหวัดจันทบุรี และเป็นถนนเศรษฐกิจการค้าหลัก มีท่าเรือขึ้นสินค้า มีท่าเรือคมนาคม เป็นเหมือนจุดหลักที่ผู้คนต่างมาพบปะแลกเปลี่ยนกัน

คนในชุมชนส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนจีนที่มาทำการค้าและตั้งรกราก
ในย่านนี้จึงประกอบด้วยคนไทย จีน และญวน มีการนับถือศาสนาพุทธและคริสต์

 บนถนนเส้นนี้ สามารถแบ่งได้เป็น 3 ย่าน คือ ย่านท่าหลวง ย่านตลาดกลาง และย่านตลาดล่าง
ตอนเช้าบ้านเรือนแต่ละหลังยังปิดอยู่ ถนนก็ยังไม่มีรถวิ่งเงียบสงบมากค่ะ


ย่านตลาดล่าง
เดิมเคยเป็นย่านที่อยู่อาศัย ลักษณะบ้านเรือนจึงแตกต่างกันไปตามฐานะของเจ้าของบ้าน  

สถาปัตยกรรมของย่านริมน้ำจันทบูรมีอยู่สองแบบคือบ้านตึกปูนปั้นแบบโคโลเนียลของข้าราชการ
และบ้านไม้ฉลุลายสวยงามของคหบดี

มีป้ายรายละเอียดของชุมชนให้อ่านได้ตลอดทางเลยค่ะ


เดินมาจนสุดชุมชนแล้วค่ะ เลี้ยวซ้ายไปชมโบสถ์กันต่อ


ข้างหน้าคือสะพานที่จะข้ามไปโบสถ์ เมื่อคืนพวกเราก็มาเดินเล่นกันไปแล้ว

ภาพแสดงลักษณะที่โดดเด่นของชุมชมนี้ เช่นลักษณะเรือนขนมปังขิง( Gingerbread Style) ที่เป็นการตกแต่ง ประดับประดาบ้านเรือนด้วยไม้ฉลุลาย ตามบริเวณชายคา ช่องลม กันสาด ราวระเบียง 


โบสถ์วัดแม่พระปฏิสนธินิรมล จังหวัดจันทบุรี  หรือ อาสนวิหารพระแม่ปฏิสนธินิรมล  

ระเบียงชมวิวริมน้ำ


โบสถ์นี้สร้างขึ้นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2254  บนฝั่งตะวันตกของแม่น้ำจันทบุรี
 จนถึงปี พ.ศ. 2377 ได้มีการย้ายไปสร้างบนฝั่งตะวันออกของแม่น้ำจันทบุรี อันเป็นสถานที่ตั้งในปัจจุบัน


รูปวาดภาพเรือนไทยริมน้ำ



บนพื้นสะพานก็ยังมีภาพวาดด้วยนะคะ

บรรยากาศต่างจากเมื่อคืน ตอนเช้านี้ไม่มีคนเลยค่ะ


 โบสถ์วัดแม่พระปฏิสนธินิรมล 

ในปี พ.ศ. 2446 ได้มีการก่อสร้างโบสถ์ให้มีขนาดใหญ่กว่าหลังเดิม
เพื่อรองรับกับจำนวนคริสตศาสนิกชนที่เพิ่มมากขึ้น 

ตัวโบสถ์ในปัจจุบันนับเป็นหลังที่ 5 สร้างโดยคุณพ่อเปโตรปรีกาล เมื่อพ.ศ. 2449


รูปปั้นพระแม่มารีสีหน้าสงบเปี่ยมประกายเมตตา ยืนอยู่หน้าวิหาร


โบสถ์คาทอลิกแห่งนี้เป็นโบสถ์ขนาดใหญ่ที่มีความเก่าแก่
และกล่าวกันว่ามีความงดงามมากที่สุดในประเทศ


ตัวโบสถ์ยาว 60 ม. กว้าง 20 ม. สร้างด้วยสถาปัตยกรรมแบบโกธิก
ซึ่งจำลองแบบมาจากโบสถ์นอร์ทเทอร์ดามในประเทศฝรั่งเศส
หน้าต่างโค้งและประดับด้วยลายฉลุโดยรอบตัวโบสถ์ มีหอด้านหน้าสองข้าง


 เดิมมียอดแหลมแต่ได้รื้อออกตอนสงครามโลกครั้งที่ 2 ปี พ.ศ. 2483
 เพื่อไม่ให้เป็นที่หมายตาในการโจมตีทางอากาศ

ลานกว้างด้านหน้าโบสถ์

ด้านในปิด เดินชมรอบๆโบสถ์กันค่ะ 


โบสถ์วัดแม่พระปฏิสนธินิรมล  เป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวคริสต์ในเมืองจันทบุรี,เป็นหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญและได้รับรางวัลอาคารอนุรักษ์ดีเด่นประจำปี 2542 จากสมาคมสถาปนิกสยาม

ชมโบสถ์เสร็จก็เดินย้อนกลับทางเดิม

ชมวิวบนสะพาน


แม่น้ำจันทบุรีหรือแม่น้ำจันทบูร

สะพานนิรมล (ตั้งตามชื่อโบสถ์)



แม่น้ำทางทิศใต้


ลมพัดเย็นสบาย


แผนที่ชุมชนมีอยู่หลายที่ ทำให้สะดวกในการเดินเล่นมากค่ะ


อาคารบ้านเรือนแต่ละหลังตั้งแต่ย่านท่าหลวงถึงตลาดล่างต่างก็มีประวัติความเป็นมาและเรื่องราว
ที่น่าสนใจ จึงมีป้ายนำชมและบอกเรื่องราวให้เราได้รู้จักชุมชนมากขึ้น 


ภาพวาดขนาดใหญ่เป็นรูปมาริลีนมอนโรบนผนังเก่าของอาคาร




ที่นี่เคยเป็นสถานที่ถ่ายทำภาพยนตร์และโฆษณาหลายเรื่อง

ร้านเสน่ห์จันทร์  เป็นร้านขายของฝาก สินค้าพื้นบ้าน และอาหารพื้นเมืองจันทบุรี

บ้านเลขที่ 69 บ้านเรียนรุู้ชุมชน (ชุมชนริมน้ำจันทบูร)
  เป็นสถานที่จัดกิจรรมต่าง ๆ เป็นแหล่งรวบรวมเผยแพร่ความรู้ประจำชุมชน
  เป็นบ้านเก่าแก่ที่รวบรวมประวัติของชุมชนริมน้ำจันทบูร ด้านในมีภาพถ่ายของชุมชน

บ้านโภคบาลสมัยคุณย่าทวด (พ.ศ. 2419-2517) ดำรงชีพด้วยการค้า โดยนำผ้าและเครื่องนุ่งห่มจากกรุงเทพฯ ขนส่งทางเรือเมล์มาขายที่จันทบุรี และนำของป่ารวมทั้งสมุนไพรจากจันทบุรีไปขายที่กรุงเทพฯและค้าขายเสื่อซึ่งท่อโดยชาวญวนที่อาศัยอยู่บริเวณวัดโรมันคาทอลิกจันทบุรี
 การค้าขายผ้าในสมัยนั้นซึ่งเป็นช่วงที่ฝรั่งเศสยึดจันทบุรีเป็นเวลานานถึง 11ปี ถือว่าเป็นสินค้าควบคุมโดยกงสุลฝรั่งเศสร้านค้าขายผ้าต้องอยู่ในอาณัติของฝรั่งเศสโดยฝรั่งเศสออกเอกสารรับรองให้ว่าเป็นคนในบังคับของฝรั่งเศส ซึ่งบ้านโภคบาลยังคงเก็บรักษาเอกสารฉบับนี้ไว้ให้เป็นประวัติศาสตร์ตอนหนึ่งของจันทบุรี เพื่อให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาเรียนรู้ต่อไป


บ้านโภคบาลเป็นบ้านไม้ตะเคียนทั้งหลัง ปัจจุบันได้เปลี่ยนเป็นร้านขายโปสการ์ดและของที่ระลึก



 ย่านตลาดกลาง
เป็นย่านที่เริ่มเป็นอาคารพาณิชย์และตึกสูง เดิมเป็นศูนย์กลางการค้าขาย แลกเปลี่ยนสินค้า
มีท่าเรือสำหรับการคมนาคม และขนส่งสินค้า
 เคยเกิดไฟไหม้ครั้งใหญ่เมื่อปี พ.ศ. 2533 ได้มีการปลูกสร้างอาคารใหม่ ขึ้นมาแทนอาคารไม้เก่า


ย่านท่าหลวง
เริ่มจากบริเวณเชิงสะพานวัดจันทร์ เดิมเป็นที่ตั้งของศูนย์ราชการ 
ต่อมาได้เปลี่ยนเป็นย่านที่อยู่อาศัย และค้าขาย


บ้านหลวงราชไมตรี
บ้านเลขที่ 252  อายุประมาณ 150 ปี เป็นบ้านไม้สักทอง 2 ชั้น ลักษณะสถาปัตยกรรมเป็นแบบไทย 
 อยู่ติดริมน้ำจันทบุรี ปัจจุบันได้ปรับปรุงเปิดเป็นบ้านพักประวัติศาสตร์ ลักษณะบูทิคโฮเทล
ท่านหลวงราชไมตรี ถือเป็น "บิดาแห่งยางพารา ภาคตะวันออก"


บ้านคุณตาจรรยา
บ้านเลขที่ 273 ลักษณะเป็นบ้าน 2 ชั้น ชั้นบนเป็นการปลูกเรือนไม้โดยใช้การเรียงไม้ตามแนวตั้ง
ช่องลมส่วนที่อยู่ติดกับหลังคา เป็นไม้ฉลุลวดลายสวยงาม
เป็นของคุณตาจรรยา วานิชกุล ผู้ที่มีความรู้เรื่องของชุมชนมาก ช่วยถ่ายทอดประวัติของถนนเส้นนี้ได้อย่างดี ภายในบ้านจะมีป้ายศาลสถิตของเทพเจ้าประจำบ้าน ซึ่งมีอยู่คู่บ้านมานานกว่า 100 ปี 


เดินมาจนจะสุดถนนแล้วค่ะ ทางซ้ายมือมีบันไดทางขึ้นเพื่อไปวัด

วัดโบสถ์เมืองจันทบุรี
วัดโบสถ์เมือง เป็นวัดที่สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนปลาย 

โบสถ์สีทองที่เรามองเห็นได้จากห้องพัก


สันนิษฐานว่าสร้างเมื่อปี พ.ศ.2395 โดยสังเกตได้จากเสมาหินทรายขาว อุโบสถและเจดีย์

ด้านในโบสถ์ปิดเลยไหว้พระกันด้านนอกค่ะ


บริเวณนี้คือจุดเริ่มต้นของชุมชมริมน้ำจันทบูร


เดินย้อนกลับทางเดิม แวะซื้อขนมและของฝาก

โรงงานไอศครีมตราจรวด  มีอายุ 100 กว่าปี
ลักษณะอาคารเป็นครึ่งตึกครึ่งไม้ ทรงยุโรป มีลายฉลุไม้ประดับตรงช่องว่างส่วนโค้งเหนือกรอบประตู
คันทวยเป็นลายฉลุ ริมหลังคากันสาดติดแถบฉลุลาย ชั้นบนตกแต่งด้วยลายนูนสูง ทำเป็นเสาโรมันประดับ ขอบหน้าต่างทำเป็นลายเสารับกับส่วนโค้งด้านบนกรอบหน้าต่าง  มีตู้ไอศครีมตั้งอยู่ด้านหน้าร้าน
 หากต้องการซื้อ  ให้สั่นกระดิ่งเรียกพนักงานจะโผล่มาให้บริการทางหน้าต่าง 


ไอศครีมตราจรวด 
เป็นยี่ห้อเก่าแก่ของเมืองจันทบุรี เป็นร้านไอติมเจ้าแรกๆ ของจันทบุรี ดำเนินกิจการมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2502 ถือเป็นเจ้าแรกที่ใช้เครื่องจักรในการทำไอศครีม

ร้านก๋วยจั๊บป้าไหม
เป็นก๋วยจั๊บโบราณร้านเปิดแต่เช้าและปิดในช่วงบ่ายๆ ด้านหน้าร้านมีคนเยอะมากค่ะ เลยมายืนด้านข้าง


พริกไทยและทุเรียนทอดเมืองจันท์

เวลา 8:00 น.กลับมาทานอาหารเช้าที่โรงแรมค่ะ ห้องอาหารอยู่ริมน้ำเลย


แม่น้ำจันทบูร หรือแม่น้ำจันทบุรี เป็นแม่น้ำสายหลักของจังหวัดจันทบุรี เปรียบเหมือนเส้นเลือดใหญ่ที่หล่อเลี้ยงผู้คนมานานนับ 100 ปี มีต้นน้ำมาจากภูเขาตะเคียนทอง เขตอำเภอมะขาม มาบรรจบกับสายน้ำอีกสามสาย คือคลองตารอง คลองตาหลิว คลองทุ่งเพล เป็นระยะทาง 123 กิโลเมตร


เวลา 9:30 น.ออกเดินทางไปเที่ยวกันต่อค่ะ


มุ่งหน้าลงใต้ไป อ.แหลมสิงห์ ห่างจากอำเภอเมืองประมาณ 30 กม.


ข้ามสะพานบางสระเก้า


ป้ายบอกสถานที่ท่องเที่ยว เลี้ยวขวาไปตามป้ายเลยค่ะ


ถึงแล้วค่ะ "ตึกแดง" ตั้งอยู่บน ถ.แหลมสิงห์ 2


ตึกแดงสร้างขึ้นโดยฝรั่งเศส ในปี พ.ศ. 2436 ในยุคของอินโดจีนฝรั่งเศส หรือ วิกฤตการณ์ ร.ศ. 112 
แหล่งเรียนรู้ประวัติศาสตร์ของจังหวัดจันทบุรี 
เป็นประวัติอันขมขื่นของคนเมืองจันทบุรีอยู่ภายใต้การปกครองของฝรั่งเศสถึง 11 ปี (พ.ศ.2436 – 2446) 

ตึกแดง เป็นอาคารชั้นเดียวก่ออิฐถือปูน กว้าง 7 เมตร ยาว 32 เมตร
 ทาสีแดงเข้ม มีระเบียงสองด้านตามแนวยาวของตัวตึก 
ด้านข้างตึกจะปลูกต้นมะขามไว้ เพื่อสร้างขวัญกำลังใจและให้ศัตรูเกรงขาม


 ที่ตั้งของตึกแดงอยู่ที่ป้อมพิฆาฏปัจจามิตรซึ่งเป็นป้อมปืนเก่าแก่ในสมัยรัชกาลที่ 3 โดยฝรั่งเศสได้รื้อเอาป้อมออกแล้วสร้างตึกแดงแทน มีการนำวัสดุบางอย่างของป้อมมาใช้ในการสร้างดึกแดงด้วย 
ฝรั่งเศสใช้ดึกแดงเป็นที่บัญชาการ ที่พักนายทหารและกองรักษาการณ์ปากน้ำแหลมสิงห์
ถึงปี พ.ศ. 2447 จนได้สิ่งที่ต้องการจนครบรวมทั้งดินแดนที่เคยเป็นเมืองขึ้นของไทย 
และเงินค่าเสียหายที่ฝรั่งเศสเรียกร้อง 

 วิกฤตการณ์ รัตนโกสินทร์ศก 112 (พ.ศ. 2436) เกิดขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งเป็นครั้งแรกที่สยามถูกรุกรานจากประเทศฝั่งตะวันตกจนถึงขั้นสู้รบกัน เหตุการณ์ครั้งนั้นเกิดขึ้นจากฝรั่งเศสขยายการล่าอาณานิคมเข้ามาในเขตอินโดจีนและได้ดินแดนเวียดนามไป แล้วจึงเรียกร้องสิทธิในการครอบครองดินแดนฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง (ประเทศลาวในปัจจุบัน) ซึ่งในขณะนั้นอยู่ในการปกครองของสยาม สยามและฝรั่งเศสต่างตกลงกันไม่ได้ ฝรั่งเศสจึงถือสิทธิ ส่งเรือรบเข้ามายังปากแม่น้ำเจ้าพระยา และเกิดการยิงตอบโต้กัน เป็นเหตุให้เกิดกรณีพิพาท และได้ยืดเยื้อมานานกว่า 10 ปี
ขณะนั้นฝรั่งเศสได้เข้ายึดเมืองจันทบุรีไว้เป็นประกันตั้งแต่ปี พ.ศ. 2436 - 2447
และบังคับให้สยามลงนามใน สนธิสัญญาสันติภาพ ที่ไทยต้องชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ฝรั่งเศส
เป็นเงิน 3 ล้านฟรังก์ พร้อมทั้งยอมสละดินแดนสยามบางส่วนให้กับฝรั่งเศส

ปืนใหญ่ปากน้ำแหลมสิงห์


ปืนใหญ่กระบอกนี้พบเจอที่ใต้แม่น้ำจันทบุรี บริเวณปากน้ำแหลมสิงห์ จากร่องรอยของตัวปั๊มข้างกระบอกปืน สันนิษฐานว่าเป็นปืนของทหารฝรั่งเศสที่อาจจะทำตกน้ำในระหว่างขนขึ้นฝั่ง

ภายในตึกแบ่งเป็น 5 ห้อง เป็นห้องโล่งๆ มีประตูเปิดถึงกันหมด บางห้องมีแผ่นป้ายให้ความรู้
 บอกความเป็นมาของตึกแดง และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

ตึกแดงได้รับการบูรณะเมื่อปี พ.ศ. 2527 และใช้เป็นอาคารห้องสมุดและศูนย์การศึกษานอกโรงเรียน
ของ อ.แหลมสิงห์ ต่อมาเลิกใช้และเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชมฟรี

คุกขี้ไก่ เป็นสถานที่ทางประวัติศาสตร์ของจังหวัดจันทบุรี ตั้งอยู่ห่างจากตึกแดง 300 เมตร
ต.ปากน้ำแหลมสิงห์ ก่อนถึงท่าเทียบเรือ 1 กิโลเมตร  

สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2436 (ร.ศ. 112) โดยชาวฝรั่งเศสได้สร้างพร้อมกับตึกแดง

คุกขี้ไก่ มีลักษณะเป็นป้อมสี่เหลี่ยมจัตุรัสลบเหลี่ยม ผนังอาคารก่อด้วยอิฐมอญ
 ขนาดกว้าง 4 เมตร ยาว 4 เมตร สูง 10 เมตร 


จัดแต่งพื้นที่เป็นทางเดินและไม้ประดับ สามารถเดินชมได้รอบๆ
หากต้องการเข้าไปชมด้านใน ก็มีทางเข้าเล็กๆอยู่ที่พื้นทางซ้ายมือต้องมุดเข้าไปค่ะ
ในอดีตรอบๆ ป้อมจะมีน้ำล้อมอยู่ 3 ด้าน ปัจจุบันเห็นเป็นพื้นร่องเท่านั้น

แต่เดิมชาวบ้านเห็นว่าสร้างเป็นทรงสี่เหลี่ยมคล้ายป้อม จึงเรียกกันว่า "ป้อมฝรั่งเศส"​ 
แต่แท้จริงแล้วเป็นที่สำหรับคุมขังนักโทษที่ต่อต้านชาวฝรั่งเศส มีทั้งชาวไทย ญวน และจีน 

มุดเข้าไปชมด้านในกันค่ะ
หลังคาเดิมเป็นเครื่องไม้มุงกระเบื้องทรงพีระมิด ปัจจุบันหลังคาได้ชำรุดไปหมดแล้ว
จึงปล่อยไว้แบบเปิดโล่ง ตัวอาคาร(คุก) มีประตูทางเข้าออกเพียงทางเดียว


ในคุกแบ่งเป็น 3 ชั้น เมื่อก่อนมีคานกั้น มีช่องระบายอากาศอยู่สองแถว ด้านในอยู่กันอย่างแออัด
 ชั้นบนใช้เป็นที่เลี้ยงไก่ซึ่งจะถ่ายมูลราดศีรษะนักโทษที่ถูกคุมขังตลอดเวลา
ชั้นกลางใช้ขังนักโทษที่มีโทษหนัก จะมีโอกาสโดนมูลไก่ราดได้มากที่สุด
ชั้นล่างจะใช้ขังนักโทษที่มีโทษเบากว่า มีโอกาสโดนมูลไก่ได้น้อยกว่า
ความทรมานของคุกขี้ไก่ ไม่ได้อยู่ที่ความเจ็บปวดทางด้านร่างกาย แต่เป็นความเจ็บปวดทางจิตใจ
 ที่ถูกผู้รุกรานต่างชาติคุมขังอย่างไร้ศักดิ์ศรี

ผนังรอบอาคารแต่ละด้าน เจาะช่องระบายอากาศเป็น 2 แถว มองจากด้านนอกเห็นเป็นแนวริ้วยาว
ส่วนด้านในเจาะเป็นเหมือนกรอบช่องหน้าต่างสี่เหลี่ยมขนาดเล็ก แต่ก่อปูนสอบจนเหลือเป็นเพียง
แนวช่องตามแนวยาว (เหมือนสี่เหลี่ยมคางหมู) เพียงพอแค่ให้แสงและอากาศผ่านเข้าไป
 แต่ตัวคนไม่สามารถออกมาได้ และยังทำให้ลมไม่เข้า อากาศด้านในจึงค่อนข้างร้อนอบอ้าว 

คุกนี้เลิกใช้งานตั้งแต่ทหารฝรั่งเศสถอนกำลังออกจากเมืองจันทบุรี เมื่อปี พ.ศ. 2447
ทิ้งไว้เพียงความทรงจำที่โหดร้ายในจิตใจของคนไทย


เวลา 10:00 น.ออกเดินทางต่อค่ะ ตอนนี้พวกเราเข้าสู่ถนนเฉลิมบูรพาชลทิต เป็นถนนถูกสร้างขึ้นเพื่อเชื่อมต่อการเดินทางระหว่างจังหวัดระยองถึงจันทบุรี โดยเริ่มตั้งแต่ อ.แกลง (ข้างอนุสาวรีย์สุนทรภู่)
 มาจนถึง อ.แหลมสิงห์ จ.จันทบุรี มีระยะทางประมาณ 111 กิโลเมตร  
ถือว่าเป็นซีนิค รูท (Scenic Route) เส้นแรกของเมืองไทย


สะพานตากสินมหาราช หรือ "สะพานแหลมสิงห์" 
 เป็นสะพานเชื่อมต่อระหว่าง ต.บางกะไชย กับ ต.ปากน้ำแหลมสิงห์
ช่วงกลางสะพานมีทางเบี่ยงให้แวะจอดรถชมวิวได้สองข้าง


สะพานตากสินมหาราช เป็นสะพานที่ยาวที่สุดในภาคตะวันออก สร้างเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2550 
มีความยาว 1,060 เมตร ข้ามปากแม่น้ำจันทบุรี ซึ่งเป็นแม่น้ำสายหลัก

ทางขวามือมองเห็นวัดเขาแหลมสิงห์ มีโบสถ์สีขาวสวยงาม 
ภายในโบสถ์มีองค์หลวงพ่อแก้วสารพัดนึกให้กราบไหว้บูชา

บนสะพานเป็นจุดชมวิวสวยงามของปากแม่น้ำจันทบุรี


วิถีชีวิตการทำประมงพื้นบ้าน มีการวางกระชังปลาในแม่น้ำ 
ซึ่งบริเวณปากแม่น้ำจันทบุรีนี้ ถือเป็นแหล่งประมงแหล่งใหญ่แห่งหนึ่งของจังหวัด


ปากแม่น้ำเป็นบริเวณที่แม่น้ำจันทบุรีไหลออกสู่ทะเล ปากแม่น้ำมีความกว้างมากพอๆกับฝั่งทะเล
 จุดสังเกตคือ ฝั่งทะเลจะมองเห็นเกาะจุฬา อยู่ทางปลายเขาแหลมสิงห์


ลงจากสะพานแล้วเลี้ยวซ้ายไปขึ้นเขาแหลมสิงห์กันต่อค่ะ


ป้อมไพรีพินาศ เป็นป้อมปืนที่สร้างขึ้นตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ในปี พ.ศ.2377 ถือเป็นสถานที่ที่มีความเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ ที่มีมาตั้งแต่สมัยต้นรัตนโกสินทร์ จนถึงช่วงที่จันทบุรีได้รับอิสรภาพจากฝรั่งเศส มีทางเดินขึ้นไปชมป้อมด้านบนค่ะ(พวกเราไม่ได้ขึ้น)


ขับต่อไปตามทางแล้วเลี้ยวซ้ายตามป้าย


ขับต่อมาจนสุดทาง หาที่จอดรถแล้วลงเดินต่อค่ะ

พระตำหนักกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ แหลมสิงห์ จังหวัดจันทบุรี
ตั้งอยู่ เขตทหารเรือ เชิงเขาแหลมสิงห์ 

ขึ้นไปกราบไหว้กรมหลวงชุมพรด้านบน มองเห็นสะพานตากสินมหาราชด้วยค่ะ

รอบๆตำหนักมีที่นั่งเล่นชมวิว ลมแรงมาก



ด้านข้างมีชายหาดเล็กๆลงไปเดินเล่นได้ค่ะ






มีหินรูปร่างแปลกๆอยู่ริมหาด ขึ้นไปปีนเล่นนิดนึง



จากจุดที่เราจอดรถยังมีสถานที่ให้เดินเที่ยวต่อได้อีกค่ะ คือ 
สิงห์โตหิน 410 เมตร ประภาคารฯ 400 เมตร จุดชมวิว 400 เมตร แหลมสิบญวน 200 เมตร

เวลา 11:00 น.เดินทางมาถึง วัดปากน้ำแขมหนู 


ที่ตั้ง เลขที่ 86 ม.9 ต.ตะกาดเง้า อ.ท่าใหม่ จ.จันทบุรี


โบสถ์สีน้ำเงินสวยงามโดดเด่นมากๆค่ะ


วัดปากน้ำแขมหนู เป็นวัดเก่าแก่ของจันทบุรี ตั้งอยู่ในชุมชนประมง ริมทะเล 
พระอุโบสถหลังแรก เริ่มก่อสร้างตามแบบมาตรฐาน และได้รับวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2489 


พระอุโบสถหลังเก่าเริ่มชำรุดทรุดโทรมเนื่องจาก พื้นที่วัดปากน้ำแขมหนู อยู่ติดกับทะเล ทำให้โครงสร้างพระอุโบสถผุกร่อนลุกลามไปทั่วจนถึงหลังคา โดยช่วงหน้าฝนเกิดน้ำรั่ว จนไม่สามารถประกอบกิจสังฆกรรมของสงฆ์ได้ ในปี พ.ศ. 2534 ท่านเจ้าอาวาสจึงได้มีมติร่วมกับชาวบ้าน ที่จะดำเนินการรื้อโบสถ์หลังเก่า และก่อสร้างพระอุโบสถหลังใหม่ขึ้น

เข้าไปชมด้านในก่อนค่ะ(จะได้หลบแดดร้อนด้วย)


ด้านบนยังก่อสร้างไม่เสร็จ คนจึงมากราบสักการะพระประธานที่ด้านล่างโบสถ์กันค่ะ


ไหว้พระทำบุญเสร็จก็ออกมาเดินชมโบสถ์ด้านนอกกันค่ะ
เดินขึ้นไปชมด้านบนได้นะคะ แต่ต้องถอดรองเท้าและตอนนี้พื้นร้อนมาก


พระครู วิกรม สังฆกิจ เจ้าอาวาสวัดปากน้ำแขมหนู ได้เล่าประวัติความเป็นมาของพระอุโบสถหลังนี้ว่า ท่านได้เดินทางไปดูรูปแบบก่อสร้างโบสถ์วัดอื่นๆ จนไปพบว่ามีวัดแห่งหนึ่งใช้กระเบื้องเซรามิกมาประดับ และเห็นว่าพื้นผิวเซรามิกมีความมันเงา คงทนแข็งแรง จึงมีแนวความคิดที่จะใช้เซรามิกมาเคลือบชั้นปูนพระอุโบสถที่วัด เพื่อป้องกันน้ำเค็ม และได้ประสานโรงงานรับเหมาให้ผสมสีลงในเซรามิกที่จะนำมาใช้เพื่อลดเวลาการก่อสร้าง ไม่ต้องทาสีซ้ำบ่อยๆ ลดการเสื่อมสภาพจืดจางของตัวสีได้ด้วย


สาเหตุที่เลือกประดับลวดลายลงพื้นโบสถ์ด้วยสีน้ำเงิน เพราะท่านเห็นว่าภาชนะลายครามที่ทำจาก
เซรามิกสมัยโบราณ จะมีการใช้สีหลักเพียงสองสี คือพื้นสีขาวตัดลวดลายด้วยสีน้ำเงิน
 เมื่อลองมาใช้กับโบสถ์ก็พบว่ามีความสวยงามโดดเด่น จึงได้มีการนำมาใช้ประดับตกแต่งพระอุโบสถ
จนกลายมาเป็นโบสถ์สีน้ำเงินอย่างที่เห็น

ตอนนี้การก่อสร้างใกล้จะเสร็จแล้ว เหลือเพียงการตกแต่งวาดลวดลายภายในพระอุโบสถ
และการเก็บรายละเอียดภายนอก


โบสถ์สีน้ำเงิน วัดปากน้ำแขมหนู เป็นโบสถ์ทนน้ำเค็มกันสนิมแห่งเดียวในโลก
งานเซรามิกโบราณที่ใช้สีพื้นเพียงสองสี คลาสสิกสวยงามแปลกตา 

ออกจากวัดก็ขับรถไปจอดใกล้ๆสะพานเฉลิมพระเกียรติ(สะพานปากน้ำแขมหนู)


จุดชมวิวปากน้ำแขมหนู (อยู่ตรงเชิงสะพาน)

ด้านหลังคือสะพานเฉลิมพระเกียรติ มีความยาวประมาณ 400 เมตร (บนสะพานเป็นจุดชมวิวด้วยค่ะ)
 เชื่อมต่อระหว่าง ต.คลองขุด กับ ต.ตะกาดเง้า


จุดชมวิวนี้ ถูกปรับภูมิทัศน์ให้เป็นกึ่งสวนสาธารณะ พื้นทางเดินปูด้วยอิฐสีแดง มีสนามหญ้า
 มีศาลา 6 เหลี่ยม กระจายอยู่ตามจุดต่างๆ สำหรับนั่งเล่น และพักผ่อน

บริเวณนี้มีคลื่นลมค่อนข้างแรง จึงมีการยกพื้นสูงเพื่อเป็นแนวกันคลื่น ไม่เหมาะกับการลงเล่นน้ำ
  ริมตลิ่งโล่งจึงเห็นวิวทะเลกว้าง ในช่วงกลางวันค่อนข้างร้อนมาก  
ตอนเย็นเหมาะในการมานั่งชมวิวพระอาทิตย์ตกลับขอบเขาเจ้าหลาว

เดินทางต่อมาถึง จุดชมวิวเนินนางพญา(Noen-nangphaya view point)
ถนนเฉลิมบูรพาชลทิต หาดคุ้งวิมาน ต.สนามไชย อ.นายายอาม จ.จันทบุรี

ทางเดินปูด้วยอิฐ มีบันไดทางขึ้นกว้าง ไม่ชัน เดินสบาย
จุดชมวิวมี 2 จุด อันแรกคือที่ศาลาด้านล่างตอนนี้คนเยอะมาก พวกเราเลยเดินขึ้นมาชมวิวด้านบนค่ะ

รงนี้คือจุดชมวิวด้านบนค่ะ

ที่นี่เป็นจุดชมวิวที่สวยที่สุดในภาคตะวันออก เห็นวิวชายฝั่งทะเลและถนนโค้งสวยริมชายฝั่งทะเล
ตอนนี้เป็นช่วงวันหยุดยาวคนมาเที่ยวมากเลยมีรถจอดหนาแน่นทั้งสองฝั่งถนน


 ช่วงของถนนเฉลิมบูรพาชลทิต ที่โค้งเป็นรูปตัวเอส (S) ถือว่าเป็นช่วงที่สวยที่สุด


จุดชมวิวเนินนางพญา ถือเป็นหนึ่งในเส้นทางชวนฝัน (Dream Destination) บนถนนเฉลิมบูรพาชลทิต

ด้านบนนี้ยังสามารถชมวิวทะเลสีฟ้าสดใสสวยมาก


แผนที่ อ่าวคุ้งวิมานและอ่าวคุ้งกระเบน

จุดชมวิวเนินนางพญา เป็นจุดชมวิวริมทาง ที่มีการปรับภูมิทัศน์ให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยว 
ได้ชมทัศนียภาพริมฝั่งที่เป็นเนินสูงๆ ต่ำๆ ของเนินเขาริมชายฝั่ง 

ด้านนี้สามารถมองเห็นแหลมส่วนที่เป็นปลายด้านหนึ่งของอ่าวคุ้งกระเบน

ตรงบริเวณจุดชมวิวแห่งนี้ นอกจากจะได้เห็นวิวสวยๆ ยังเป็นสถานที่สนับสนุนให้คู่รักได้มาเที่ยว
มาคล้องกุญแจและอธิษฐานให้ความรักมั่นคงตลอดไป




ตอนเที่ยงแดดร้อนจัดมากๆค่ะ

เดินกลับทางเดิม แวะเก็บภาพวิวสวยๆ

น้ำทะเลสีสวยมากๆค่ะ


เวลา 12:30 น.ออกเดินทางต่อถึงหาดเจ้าหลาว


แวะทานอาหารเที่ยงที่ร้านซีฟู๊ด นั่งทานกันที่ศาลาริมทะเลเลยค่ะ


อาหารทะเลสดอร่อย

เวลา 15:30 น.เดินทางถึงที่พัก อ.เมือง จ.ระยอง
นอนพักเอาแรงก่อนค่ะ ตอนเย็นค่อยออกไปเดินเล่น


เวลา 17:00 น.เดินจากที่พักไปชมย่านเมืองเก่า "ถนนยมจินดา"
เริ่มเดินตั้งแต่ต้นถนน เลี้ยวซ้ายเลยค่ะ


ปิดถนนทุกเสาร์-อาทิตย์ เพื่อเปิดเป็นถนนคนเดิน
วันนี้เป็นวันจันทร์เลยไม่มีของมาขายค่ะ

ศูนย์พัฒนาข้อมูลประวัติศาสตร์เมืองระยอง


บ่อน้ำโบราณ อายุ 100 ปี

ร้าน "ราย็อง" ร้านนมและโรตีที่เก่าแก่แห่งหนึ่งของถนนยมจินดา
เปิดขายมาหลายสิบปี จากรถเข็นขายมาเรื่อยๆจนกลายเป็นร้านที่มีติดกันถึง 2 ร้าน ปัจจุบันรถเข็นและอุปกรณ์เก่าต่างๆ ก็ยังวางให้ดูอยู่หน้าร้าน ให้คงความคลาสสิกที่เป็นเอกลักษณ์ของถนนแห่งนี้
พวกเราตั้งใจว่ามื้อเย็นนี้จะมาทานอาหารที่นี่กันค่ะ

บ้านไม้ที่มีการปรับปรุงใหม่ให้ดูทันสมัย



ประตูไม้โบราณสวยมากค่ะ


ร้าน "เชย" เป็นร้านกาแฟและอาหารจานเดียว วันนี้ปิดค่ะ

ถนนยมจินดา เป็นถนนเก่าแก่ที่ทอดตัวยาวขนานไปกับแม่น้ำระยอง 
เป็นแหล่งการค้าและเศรษฐกิจแห่งแรกของเมืองระยอง ต้นกำเนิดประวัติศาสตร์เมืองระยองมายาวนาน

บ้านสัตย์อุดม บ้านไม้สองชั้น เป็นบ้านเดิมของขุนศรีอุทัยเขตร์ (โป๊ง สัตย์อุดม) 
เจ้าของโรงสี โรงหนัง และอู่ต่อเรือในอดีต



ไปชมด้านในกันค่ะ

ประวัติ ถนนยมจินดา

ปัจจุบันบ้านหลังนี้ได้ถูกปรับปรุงเปิดให้เป็น "พิพิธภัณฑ์เมืองระยอง" 

ที่นี่เกิดจากความตั้งใจของกลุ่มชมรมอนุรักษ์ฟื้นฟูเมืองเก่าระยอง 
ให้เป็นที่รวบรวมของเก่าของดีของเมืองระยอง 

จัดแสดงสิ่งของโบราณต่างๆ อย่างเช่น ถ้วย ชาม  โทรทัศน์  วิทยุ เครื่องพิมพ์ดีด และข้าวของเครื่องใช้ต่างๆมากมาย รวมไปถึงภาพถ่ายขาวดำที่สะท้อนภาพของคนเมืองระยองในอดีต 


เปิดให้ชมฟรีทุกวัน เวลา 9.00 - 18.00 น

ด้านหลังบ้านอยู่ติดแม่น้ำ

พระเจดีย์กลางน้ำจำลอง

พระเจดีย์กลางน้ำถือเป็นสัญลักษณ์ของจังหวัดระยอง

นั่งชมวิวริมน้ำ บรรยากาศเงียบสงบมากค่ะ

ด้านหลังพิพิธภัณฑ์จัดแสดงรูปภาพพระราชกรณียกิจ


ออกจากพิพิธภัณฑ์ก็เดินเล่นต่อ มีบ้านไม้หลายหลังถูกปล่อยให้ทิ้งร้าง ชำรุดทรุดโทรม



ที่นี่เคยเป็นโรงหนัง

ตลาดเทศบาล

ศาลเจ้าแม่ทับทิม



ภาพวาดที่ผนังสวยงามมากค่ะ

จากศาลเจ้าสามารถเดินต่อไปตามถนนยมจินดาได้อีกค่ะ แต่พวกเราเริ่มหิวแล้วเลยเดินย้อนกลับกัน

ร้านราย็อง
เข้าไปทานอาหารเย็นกันที่ร้านนี้เลยค่ะ

มะพร้าวน้ำหอมปั่นนมสด , Galaxy Slush อัญชัญน้ำผึ้งมะนาว , ก๋วยจั๊บไก่ , ข้าวยำไก่แซบ


โรตีชีส....อร่อยมากค่ะ


เวลา 19:00 น.ทานอาหารเสร็จก็เดินกลับที่พัก ขับรถออกไปชมแสงสีในตัวเมืองระยองกันต่อค่ะ


แวะเดินเล่นที่บริเวณหน้าห้างสตาร์ อยู่ไม่ไกลจากที่พักค่ะ


มีการจัดแสดงไฟที่ด้านหน้า Star IT Center


ซุ้มไฟเล็กๆ







คนมาเดินเล่นที่นี่ไม่มากเพราะมีการจัดงานใหญ่ที่ศาลากลาง


เดินเล่นถ่ายรูปกันเสร็จก็กลับที่พักค่ะ


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น